Odor bag ถุงเก็บกลิ่น

กลิ่นเป็นสิ่งรบกวนต่อสิ่งแวดล้อมชุมชน ได้มีข้อกำหนดการตรวจวัดกลิ่นโดยให้มีการเก็บตัวอย่างกลิ่นโดยใช้ถุงสำหรับเก็บกลิ่น

การตรวจวัดกลิ่นโดยวิธีทางเคมี สามารถใช้วิธีการเก็บตัวอย่างเพื่อนำมาวิเคราะห์หาชนิดของสารเคมีที่ทำให้เกิดกลิ่นโดยใช้ถุงเก็บตัวอย่างอากาศ แล้วนำมาวิเคราะห์หาชนิดของสารในห้องปฏิบัติการ ในการสำรวจปัญหากลิ่นที่เกิดขึ้นในชุมชนมีวัตถุประสงค์เพื่อหาแหล่งกำเนิด หาปริมาณความเข้มข้น และนำข้อมูลมาใช้ในการตัดสินปัญหาเรื่องการร้องเรียนเรื่องกลิ่น  การเก็บโดยใช้ถุงเก็บตัวอย่างอากาศ ถุงที่ใช้เก็บตัวอย่างอากาศทำจากวัสดุที่ไม่ไวต่อปฏิกิริยาเคมี เช่น เทดลาร์ (Tedlar) โดยทั่วไปมีขนาด 1 ถึง 100 ลิตร มีลักษณะเป็นถุงรูปสี่เหลี่ยมซึ่งมีท่อและวาลว์สำหรับเปิดปิดให้อากาศเข้าไปในถุงได้ ถุงเก็บอากาศแบบนี้จะใช้ได้ดีเมื่อเก็บตัวอย่างกลิ่นในอากาศที่อุณหภูมิใกล้เคียงกับอุณหภูมิห้องและความเข้มข้นของสารเคมีมากกว่า 1 ppm วิธีการนี้จะเสียค่าใช้จ่ายไม่มากนักสำหรับการเก็บตัวอย่างอากาศเพื่อไปวิเคราะห์ในห้องปฎิบัติการต่อไป 

การตรวจวัดกลิ่นโดยวิธีการดมกลิ่น

1. ปริมาณความเข้มข้นต่ำสุดที่รับรู้ได้
          ในการตรวจวัดกลิ่นนอกจากจะใช้วิธีการตรวจวัดโดยการเก็บตัวอย่าง เพื่อนำมาวิเคราะห์หาปริมาณความเข้มข้นโดยใช้เครื่องมือตรวจวัดแล้ว ยังสามารถใช้วิธีการดมกลิ่นเพื่อหาปริมาณที่มีผลกระทบต่อความรู้สึกของคนได้ด้วย ซึ่งในกรณีนี้จะมีการหาค่าปริมาณความเข้มข้นต่ำสุดที่คนจะรู้สึกได้ หรือเรียกว่าค่า Threshold

          Threshold หมายถึง ค่าความเข้มข้นต่ำสุดของสารมีกลิ่นที่ทำให้คนในกลุ่มประชาชนจำนวนร้อยละ 50 รู้สึกเริ่มได้กลิ่น ค่า Threshold นั้นไม่ใช่ค่าคงที่ แต่เป็นค่าที่เป็นตัวแทนที่ดีที่สุดในเชิงสถิติของกลุ่มตัวอย่าง ค่า Threshold แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้
          1) Detection threshold เป็นค่าความเข้มข้นต่ำสุดของสารมีกลิ่นที่ทำให้ร้อยละ 50 ของกลุ่มตัวอย่างที่ทดสอบมีการตอบสนองของประสาทการรับกลิ่น ดังแสดงใน รูปที่ 2 ซึ่งค่าดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับการตอบสนองของประสาทรับกลิ่นแต่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการจำกลิ่นได้
          2) Recognition threshold เป็นค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ผู้รับกลิ่นจะมีความรู้สึกจำกลิ่นที่มีลักษณะเฉพาะตัวในเชิงคุณภาพได้ โดยปกติจะใช้ค่าที่ทำให้ร้อยละ 50 ของกลุ่มตัวอย่างสามารถรู้สึกจดจำกลิ่นเฉพาะตัวได้
          ในกรณีที่กลิ่นเกิดจากสารชนิดเดียวนั้น ค่า Odor Dilution-to Threshold Ratio จะแสดงในรูปความเข้มข้นของสารชนิดนั้นได้ แต่ในกรณีของกลิ่นในสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปนั้น กลิ่นเกิดจากสารเคมีหลายๆ ชนิดผสมกันจึงไม่สามารถแสดงค่า Threshold ในรูปค่าความเข้มข้นของสารหลายชนิดรวมกันได้ จึงต้องแสดงค่า Threshold ของสารผสมในค่า Dilution-to threshold ratio ซึ่งเป็นค่าที่ไม่มีหน่วย ดังนี้

            ค่า Dilution-to-Threshold Ratio = D/T 
          ในกรณีที่ D/T = 100 หมายความว่า ถ้ามีตัวอย่างอากาศอยู่ 1 ลูกบาศก์ฟุต หากต้องการทำให้อากาศนั้นมีความเข้มข้นของสารที่ทำให้เกิดกลิ่นเจือจางลงจนเท่าระดับที่คนรับรู้กลิ่นได้ จะต้องใช้อากาศที่สะอาดผสมลงไป 100 ลูกบาศก์ฟุตในภาพที่ 2 นั้น เป็นการแสดงค่า D/T ของตัวอย่างอากาศที่มีกลิ่น โดยมีความเข้มข้นของสาร 1- Butanol ที่ 500 ppm และได้ทำการทดสอบกับกลุ่มคน 2 กลุ่ม จะพบว่า กลุ่มแรกมีค่า D/T = 235 และมีค่า Threshold Value เท่ากับ 2.1 ppm ส่วนกลุ่มหลังจะให้ค่า D/T = 344 โดยที่มีค่า Threshold เท่ากับ 1.5 ppm พบว่าค่า Threshold ของกลุ่มหลังจะน้อยกว่ากลุ่มแรก

            ในการบอกปริมาณความเข้มข้นของกลิ่นนั้น มีการกำหนดค่าหน่วยของกลิ่น ดังนี้ 
            หน่วยของกลิ่น (Odor Unit; OU) = ปริมาตรหนึ่งหน่วยของอากาศที่มีกลิ่นในระดับความเข้มข้นที่คนรับรู้ได้ โดยทั่วไปจะกำหนดเป็น ลบ . ฟุต ( ft3 ) 
            Odor Unit = ปริมาตรของตัวอย่างที่เจือจางจนมีความเข้มข้นเท่า Threshold ( ft3) 
                   ft3                                          ปริมาตรของตัวอย่างเริ่มต้น ft3

            Odorant Quotient = Zt = Co = ความเข้มข้นของสารในตัวอย่าง 
                                                 Ci      ความเข้มข้นที่ค่า Threshold

       ทั้งค่า Odor Unit/ft3 และค่า Zt เป็นค่าที่ไม่มีหน่วยและเป็นค่าที่มีความหมายเหมือนกับค่า Dilution to Threshold Ratio หรือ D/T สำหรับค่า Odor Unit นั้นเป็นค่าหน่วยของปริมาตรของตัวอย่างที่มีความเข้มข้นที่ Odor Threshold ซึ่งไม่ใช่ค่าเดียวกับค่า D/T   
       ค่าอัตราการระบายกลิ่น (Odor Emission Rate) เป็นค่าที่สามารถแสดงให้เห็นแนวโน้มของปัญหาเรื่องกลิ่นในบริเวณพื้นที่ที่อยู่ใต้ลมของแหล่งกำเนิด ค่าอัตราการระบายกลิ่นจะมีหน่วยเป็นปริมาตรต่อเวลา ซึ่งคำนวณได้จากค่า D/T ของตัวอย่างคูณกับค่าอัตราการไหลของอากาศ

 

Credit:ข้อมูลจาก กรมควบคุมมลพิษ http://www.pcd.go.th/info_serv/Datasmell/P3.htm